กรมวิทย์ฯ เผยใช้สารหล่อลื่นไม่ถูกต้อง ถุงยางอนามัยแตกได้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ใช้ถุงยางอนามัย หากต้องการทาสารหล่อลื่นเพิ่ม ควรใช้สารหล่อลื่นที่ละลายได้ในน้ำ เช่น เค-วาย เจลลี่, คิว-ซี เจลลี่, กลีเซอรีน ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำมัน เช่น เบบี้ออยล์, วาสลิน, น้ำมันทาผิว, น้ำมันพืช ซึ่งมีความเสี่ยงมากในการทำลายคุณภาพงยางอนามถุงยางอนามัย ทำให้ถุงยางอนามัยแตกขาดง่ายขึ้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้ พร้อมเผยผลการเฝ้าระวังคุณภาพถุงยางอนามัยปี 2552 จำนวน 461 ตัวอย่าง พบว่ามีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดถึงร้อยละ 99.3
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าววัยรุ่นใช้เบบี้ออยล์ทาถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเข้าใจว่าใช้ถุงยางอนามัยราคาถูก ไม่มีสารหล่อลื่นนั้น ความจริงถุงยางอนามัยมีสารหล่อลื่นแต่อาจไม่เพียงพอ จึงหาสารหล่อลื่นอื่นมาทาเพิ่ม อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้ทำการทดสอบคุณภาพของถุงยางอนามัยแบบผิวเรียบขนาด 49 มิลลิเมตร 1 ยี่ห้อ 2 รุ่นการผลิต เพื่อทดสอบค่าความดันและปริมาตรขณะแตก ซึ่งเป็นค่าที่แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของเนื้อยางเกี่ยวกับความเหนียวและความยืดตัวของยาง โดยนำถุงยางอนามัยมาทาด้วยสารหล่อลื่นทั้งประเภทที่ละลายในน้ำ และประเภทที่ละลายในน้ำมัน ทิ้งไว้ 10 นาที และ 30 นาที แล้วนำมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างควบคุม ซึ่งเป็นตัวอย่างถุงยางอนามัยรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้ทาอะไร และเปรียบเทียบผลตามเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า ถุงยางอนามัยที่ทา เค-วาย เจลลี่ และถุงยางอนามัยที่ทาบอดี้ โลชั่น ซึ่งมีกลีเซอรีนเป็นส่วนประกอบ มีค่าความดันและปริมาตรขณะแตก ที่ไม่แตกต่างไปจากตัวอย่างควบคุม และมีค่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
ส่วนถุงยางอนามัยที่ทาเบบี้ออยล์ที่มีน้ำมันแร่เป็นส่วนประกอบ พบว่าค่าความดันและปริมาตรขณะแตกต่ำกว่าตัวอย่างควบคุมและมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 50 ส่วนถุงยางอนามัยที่ทาวาสลิน อินเทนซีพ แคร์ ซึ่งมีปิโตรเลียม เจลลี่ เป็นส่วนประกอบ พบมีค่าไม่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด แต่มีค่า ลดลงจากตัวอย่างควบคุมร้อยละ 27 ส่วนถุงยางอนามัยที่ทาน้ำมันพืช พบมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดร้อยละ 25 และมีค่าลดลง จากตัวอย่างควบคุมร้อยละ 42 ดังนั้น หากผู้ใช้ต้องการทาสารหล่อลื่นเพิ่ม ควรใช้สารหล่อลื่นที่ละลายได้ในน้ำ เช่น เค-วาย เจลลี่, คิว-ซี เจลลี่, กลีเซอรีน ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำมัน เช่น เบบี้ออยล์, วาสลิน, น้ำมันทาผิว, น้ำมันพืช ซึ่งมีความเสี่ยงมากในการทำลายคุณภาพงยางอนามถุงยางอนามัย ทำให้ถุงยางอนามัยแตกขาดง่ายขึ้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้
นายสุรศักดิ์ ปริสัญญกุล ผู้อำนวยการสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับใบอนุญาต ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2545 ถุงยางอนามัยมี 2 ชนิด คือ ชนิดผิวเรียบ และผิวไม่เรียบ ที่ขายในประเทศไทยส่วนใหญ่มีขนาด 49, 52 และ 52.5 มิลลิเมตร ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สุ่มเก็บตัวอย่างถุงยางอนามัยจากร้านค้า โรงพยาบาล หน่วยราชการต่างๆ และตัวอย่างที่ส่งจากกรมควบคุมโรค รวม 461 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัย พบว่ามีคุณภาพเข้ามาตรฐานเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดถึงร้อยละ 99.3
โดยทั่วไปถุงยางอนามัยจะมีการเติมสารหล่อลื่นอยู่แล้ว โดยสารหล่อลื่นที่นิยมใช้ในกระบวนการผลิตถุงยางอนามัยคือ ซิลิโคน ออยล์ (Silicone oil) เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ไม่ทำลายคุณภาพเนื้อยาง อย่างไรก็ตาม มาตรฐานถุงยางอนามัย มอก.625 – 2548 ของกระทรวงอุตสาหกรรมและมาตรฐานสากล ISO 4074 : 2002 ไม่ได้กำหนดว่าควรจะใส่สารหล่อลื่นมากน้อยเท่าไร มีกำหนดเพียงวิธีทดสอบปริมาณสารหล่อลื่น ดังนั้นการใส่ปริมาณสารหล่อลื่นจึงขึ้นกับผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด ส่วนมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีปริมาณสารหล่อลื่นในถุงยางอนามัย 400 – 600 มิลลิกรัม ทั้งนี้ถุงยางอนามัยที่จำหน่ายรวมถึงถุงยางอนามัยแจกฟรีของกระทรวงสาธารณสุข เป็นถุงยางอนามัยที่ใส่สารหล่อลื่นทั้งหมด และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการตั้งครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้ถุงยางอนามัยควรใช้ให้ถูกวิธี ใช้ถุงยางอนามัยที่ยังไม่หมดอายุ เก็บถุงยางอนามัยในที่ที่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ไม่ถูกแสงแดดหรือความร้อน อย่าเก็บถุงยางอนามัยในกระเป๋าสตางค์หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะหากมีการกดทับจะทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
พฤษภาคม 2553
1 Comment
|